องค์การบริหารส่วนตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี :www.rangam.go.th
หน้าหลัก
ข่าวกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์
กระดานถาม-ตอบ
ติดต่อ-สอบถาม
ข่าวประชาสัมพันธ์
ประชาสัมพันธ์ คลอดก่อนกำหนด
รายละเอียดข่าว
หนึ่งในสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เจ้าตัวน้อยต้องเข้ารับการรักษาในหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ (Neonatal Intensive Care Unit: NICU) คือการคลอดก่อนกำหนด นั่นคือการคลอดก่อนครบสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ เนื่องมาจากอายุและโรคประจำตัวของมารดา ความผิดปกติของโครโมโซมของลูก รวมถึงกรรมพันธุ์และอื่น ๆ ดังนั้นการฝากครรภ์ในโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทาง เครื่องมือเทคโนโลยีครบครัน ที่สำคัญคือมีหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติคอยดูแล ย่อมช่วยให้คลอดเจ้าตัวน้อยได้อย่างราบรื่น เมื่อไรเรียกคลอดก่อนกำหนด การคลอดก่อนกำหนด (Preterm Labor) เป็นภาวะการคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ ซึ่งทารกเหล่านี้ถึงแม้ว่าอวัยวะต่าง ๆ ครบสมบูรณ์ แต่การทำงานของอวัยวะแทบทุกส่วนยังไม่ดีเท่าทารกครบกำหนด ซึ่งช่วงหลังคลอดมักต้องการการดูแลเป็นพิเศษและต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาลนานกว่าปกติ ปัจจัยเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด ปัจจัยที่ทำให้คลอดก่อนกำหนดเกิดขึ้นได้ทั้งจากมารดาและบุตรในครรภ์ ประกอบไปด้วย มารดา อายุของมารดา มารดาอายุน้อยเกินไป คือน้อยกว่า 18 ปี หรือมารดาที่อายุมากเกินไป คือมากกว่า 35 ปี ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนด โรคประจำตัวของมารดาขณะตั้งครรภ์ อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ มีประวัติเคยคลอดก่อนกำหนด ส่งผลให้ครรภ์ต่อมามีการคลอดก่อนกำหนดมากขึ้น มดลูกขยายตัวมากเกินไป เช่น ครรภ์แฝด ภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติ เป็นต้น มดลูกมีความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ปากมดลูกสั้น เป็นต้น ติดเชื้อในร่างกาย เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากขณะตั้งครรภ์ท้องจะโตไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะได้ ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ทำให้มีโอกาสเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด การอักเสบในช่องคลอด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติดขณะตั้งครรภ์ ฟันผุและการอักเสบของเหงือก บุตรในครรภ์ หากบุตรในครรภ์มีความผิดปกติของโครโมโซมหรือมีภาวะติดเชื้อ จะทำให้มารดามีอาการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดได้ สัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนด ปวดหลังช่วงล่างหรือบริเวณเอว เป็นต่อเนื่องหรือเป็น ๆ หาย ๆ แม้จะเปลี่ยนท่าทาง เจ็บท้องต่อเนื่องกัน 4 ครั้งใน 20 นาที หรืออาจเกิดเป็นระยะ ๆ เนื่องจากการหดตัวของมดลูก มีมูกหรือเลือดออกทางช่องคลอด รู้สึกลูกดิ้นน้อยกว่าปกติ บวมและความดันโลหิตสูงขึ้น อาจเป็นสัญญาณหนึ่งของครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด, ตั้งครรภ์ ตรวจเช็กคลอดก่อนกำหนด ตรวจภายใน โดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูก ความกว้าง ระยะห่าง ขนาดตัว และตำแหน่งทารกในครรภ์ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด ตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อวัดความยาวและดูรูปร่างของปากมดลูกในการประเมินภาวะครรภ์เสี่ยงและโอกาสคลอดก่อนกำหนด เจาะตรวจน้ำคร่ำ (Amniocentesis) เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของทารกและภาวะติดเชื้อต่าง ๆ อันตรายเมื่อเด็กคลอดก่อนกำหนด หากทารกคลอดก่อนกำหนดจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติและส่งผลต่อระบบร่างกาย ดังนี้ ปอด พบปัญหาเรื่องการขาดสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) ได้ในทารกคลอดก่อนกำหนด ทำให้ถุงลมแฟบ ทารกจะมีอาการหายใจหอบและอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หัวใจ อาจมีปัญหาจากการที่เส้นเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจเพื่อไปเลี้ยงร่างกายกับเส้นเลือดที่ไปสู่ปอดยังเปิดอยู่ (PDA) ทำให้มีเลือดผ่านไปสู่ปอดมากเป็นผลทำให้ทารกหายใจหอบและเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ สมอง ทารกน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม มีความเสี่ยงที่จะมีเลือดออกในสมองได้ เนื่องจากเส้นเลือดเปราะแตกง่าย ลำไส้ มีความเปราะบางมากกว่าปกติ การย่อยและการดูดซึมอาหารยังไม่ดีนัก ทำให้ต้องให้นมทีละน้อย ๆ และอาจต้องให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำร่วมด้วย ดวงตา จอประสาทตายังพัฒนาไม่สมบูรณ์ หลังเกิดอาจมีการพัฒนาของเส้นเลือดจอประสาทตาผิดปกติ ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงอาจส่งผลต่อการมองเห็นของทารกได้ หู มีโอกาสเสี่ยงที่จะมีความบกพร่องของการได้ยินโดยเฉพาะทารกที่มีปัญหาหลาย ๆ อย่าง การติดเชื้อ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ในระยะยาวอาจจะมีผลต่อความบกพร่องทางสติปัญญา พฤติกรรม พัฒนาการทางด้านต่าง ๆ ดังนั้นการได้รับการดูแลโดยกุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิดที่พร้อมดูแลตลอด 24 ชั่วโมงในโรงพยาบาลที่มีหน่วยทารกแรกเกิดวิกฤติ จึงมีความสำคัญมาก เพราะทารกคลอดก่อนกำหนดจะได้รับการดูแลที่ถูกต้องเพื่อกลับไปใช้ชีวิตและเติบโตอย่างมีคุณภาพ คลอดก่อนกำหนด, ตั้งครรภ์ ดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด ในการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด สิ่งสำคัญคือ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น โดยกุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิดจะให้การดูแล ดังนี้ พูดคุยรายละเอียดพร้อมให้คำแนะนำพ่อแม่อย่างใกล้ชิด ดูการหายใจของทารกและติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากทารกบางรายจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทารกให้อบอุ่นเหมาะสม ตรวจเลือดเท่าที่จำเป็น ดูแลการทานนมของทารกให้ปริมาณเพียงพอกับความต้องการที่ควรได้รับ สนับสนุนเรื่องนมแม่ ดูแลรักษาทารกจนมีน้ำหนักมากกว่า 2,000 กรัมจึงสามารถกลับบ้านได้ เตรียมความพร้อมให้กับคุณแม่ก่อนกลับไปที่บ้าน อย่างไรก็ตามการวางแผนก่อนตั้งครรภ์และฝากครรภ์ในโรงพยาบาลที่มีหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติคือสิ่งสำคัญ เพราะหากคุณแม่ต้องเผชิญกับภาวะคลอดก่อนกำหนด เจ้าตัวน้อยจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ที่สำคัญการใส่ใจดูแลครรภ์ ระมัดระวังในการรับประทานอาหาร และการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น ย่อมช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้
เอกสารประกอบ
ประชาสัมพันธ์ คลอดก่อนกำหนด
วันที่ลงข่าว
: 6 ม.ค. 2565
ผู้ลงข่าว
: ผู้ดูแลระบบ